แนวพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทน น้ำมันแก็สโซฮอล์
น้ำมันแก็สโซฮอล์ หมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมแอลกอฮอล์และน้ำมันเบนซิน งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และมีพระราชดำรัสให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอล) จากอ้อย เพราะในอนาคตอาจเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนหรือราคาอ้อยตกต่ำ การนำอ้อยมาแปรรูปเป็นเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินทุนวิจัยใช้ในการดำเนินงาน ๙๒๕,๕๐๐ บาท เพื่อใช้ในการจัดสร้างอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในขั้นต้น
วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารโครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเริ่มผลิตเอทานอลจากอ้อย แต่ต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่มาก
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงได้มีการปรับปรุงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท สุราทิพย์ จำกัด มีการปรับปรุงหอกลั่นเอทานอลให้สามารถกลั่นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ ร้อยละ ๙๕ ได้ในอัตรา ๕ ลิตร ต่อชั่วโมง วัสดุที่ใช้หมักคือ กากน้ำตาล ซึ่ง บริษัท สุราทิพย์จำกัด น้อมเกล้าฯ ถวาย
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ร่วมกับบริษัท สุราทิพย์ จำกัด ได้ขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอผสมกับน้ำมันเบนซิน ในอัตราส่วนเอทานอลต่อเบนซินเท่ากับ ๑ : ๔ เชื้อเพลิงผสมที่ได้เรียกว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์
น้ำมันแก็สโซฮอล์ที่ผลิตได้นั้น ถูกนำไปใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ทุกคันโครงการฯ ที่ใช้น้ำมันเบนซิน โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ๕๐ ปี ของสำนักพระราชวัง
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงที่บริษัท สุราทิพย์ จำกัด (ปัจจุบันคือ กลุ่มบริษัท 43) น้อมเกล้าฯ ถวายและดำเนินการกลั่นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน กำลังการผลิตหอกลั่น ๒๕ ลิตรต่อชั่วโมง คิดเป็นต้นทุนการผลิตแบบธุรกิจทั่วไป ๓๒ บาทต่อลิตร ถ้าคิดต้นทุนการผลิตแบบยกเว้นต้นทุนคงที่ราคา ๑๒ บาทต่อลิตร (ทำการผลิต ๔ ครั้งต่อเดือน) ได้เอทานอลประมาณ ๙๐๐ ลิตร ต่อการกลั่น ๑ ครั้ง ใช้กากน้ำตาลความหวานร้อยละ ๔๙ โดยน้ำหนัก ครั้งละ ๓,๖๔๐ กิโลกรัม น้ำกากส่า (น้ำเสียจากหอกลั่น) ส่วนหนึ่งจะใช้รดกองปุ๋ยหมักที่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ การปิโตเลียมแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าฯ ถวายสถานีบริการแก๊สโซฮอล์เพื่อให้ความสะดวกกับรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถานีบริการแก๊สโซฮอล์ดังกล่าว
ต่อมาวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ โครงการส่วนพระองค์ฯ ร่วมกับการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพของเอทานอล ที่ใช้เติมรถยนต์ โดยโครงการส่วนพระองค์ฯ ส่งเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๕ ไปกลั่นซ้ำเป็นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๙.๕ ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยแล้วนำกลับมาผสมกับน้ำมันเบนซินธรรมดาในอัตราส่วน ๑ : ๙ ได้แก๊สโซฮอล์ที่มีค่าออกเทนเทียบเท่าน้ำนัมเบนซิน ๙๕ เปิดจำหน่ายแก่ประชาชนที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๔๔
ในน้ำมันปิโตรเลียมซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอน เผาไหม้อย่างไรก็ไม่หมด จะมีสารที่เผาไหม้ไม่หมด (unburnt ) เหลืออยู่จากการเผาไหม้ อาทิ คาร์บอน มอนนอกไซด์ (carbon monoxide ) ในปริมาณที่สูงซึ่งเป็นมลภาวะ แต่ในเอทานอลแม้ว่าจะมีสัดส่วนเพียงแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ในแก๊สโซฮอล์ ก็สามารถลดมลภาวะได้มาก เนื่องจากในเอทานอลมีออกซิเจน (oxygen) เป็นส่วนประกอบ ออกซิเจนจะช่วยในการเผาไหม้ให้สมบูรณ์ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ เอทานอลจึงเป็นทั้งสารช่วยในการเผาไหม้และสารเพิ่มค่าออกเทน (octane enhancer ) อีกด้วย
แนวพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทน น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์
โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนโดยการศึกษาแนวทางการนำน้ำมันพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันปาล์มมาใช้งานแทนน้ำมันดีเซลเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก กำลังผลิตวันละ ๑๑๐ ลิตร ที่ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
การทดลองใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยทดลองใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลของกองงานส่วนพระองค์ ที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ (R.B.D.palm olein) เป็นน้ำมันที่สกัดจากผลปาล์มตามกรรมวิธีสะอาด ใช้ปรุงอาหารรับประทานได้ ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้จึงนำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปั้มและหัวฉีดน้ำมันที่ผลิตมาด้วยงานละเอียด จากผลการทดลองพบว่า ไม่มีผลกระทบใด ๆ ในทางลบกับเครื่องยนต์ดีเซล
น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ร้อยละ ๑๐๐ โดยปริมาตรสามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลโดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ หรืออาจใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลในสัดส่วนน้ำมันปาล์มต่อน้ำมันดีเซลน้อยตั้งแต่ร้อยละ ๐.๐๑ ไปจนถึง ๙๙.๙๙ ก็ได้เช่นกัน
การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ทำให้เพิ่มกำลังแรงบิดให้กับเครื่องยนต์ ลดมลพิษในไอเสียของเครื่องยนต์เพิ่มการหล่อลื่น ทำให้เครื่องยนต์มีอายุการใช้งานได้นาน ประหยัดเงินตราในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลได้บางส่วน ช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากนี้ ยังเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สามารถปลูกทดแทนได้
จากผลสำเร็จดังกล่าว วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ยื่นจดสิทธิบัตร ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์คือ "การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล" สิทธิบัตรเลขที่ 10764
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้จัดส่งผลงานในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวไปร่วมแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติชื่องาน "BRUSSELS EUREKA 2001" ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้ผลงานการคิดค้น ๓ ผลงานของพระองค์ คือ "ทฤษฎีใหม่" "โครงการฝนหลวง" และ " โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม" ได้รับเหรียญทอง ประกาศนียบัตรสดุดีเทิดพระเกียรติคุณ พร้อมถ้วยรางวัล ในงานดังกล่าว ล้วนเป็นผลงานการคิดค้นแนวใหม่ในการพัฒนาประเทศ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติยินดีแก่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล
พลังงานและสิ่งแวดล้อม รหัสวิชา 2001-0008ได้สรุปเนื้อหาจากหน่วยการเรียน จำนวน 13 หน่วยการเรียน ในรายวิชาพลังงานและสิ่งแวดล้อม รหัสวิชา 2001-0008 ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน สำหรับนักเรียน นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พุทธศักราช 2545 (ปรับปรุง พ.ศ. 2546) ซึ่งผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารฉบับนี้ คงจะเกิดประโยชน์ต่อผู้สอนและผู้เรียนในสถาบันการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้สอนในสถาบันอื่น เพื่อประโยชน์ของการศึกษาสืบต่อไป
นางปภาวี จรูญรัตน์
ครู วิทยฐานะชำนาญการ
ติดต่อครู T. 088-890-4103
ส่งการบ้านมาที่ e-mail : PAPHAWEE_1962@hotmail.com